ประเด็นร้อน
โชว์เอกสารประวัติศาสตร์! 'มนตรี' ชง 'ชาติชาย' สร้างทางรถไฟยกระดับ-'โฮปเวลล์' ยื่นซองรายเดียว
โดย ACT โพสเมื่อ Apr 26,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวอิศรา - -
“...ออกประกาศเชิญชวนเอกชนผู้สนใจมาลงทุนก่อสร้าง เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2532 ผลของการประกาศเชิญชวน ปรากฎว่า มีเอกชนสนใจซื้อซองข้อเสนอ 4 ราย แต่เมื่อครบกำหนดยื่นเอกสารข้อเสนอในวันที่ 15 ม.ค. 2533 ปรากฎว่า มีผู้ยื่นเอกสารข้อเสนอเพียงรายเดียว คือ บริษัท Hopewell Holding Ltd. (Hong Kong)…”
พลันที่ศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับยกคำร้องของกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรณีการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘โฮปเวลล์’ นั้น ส่งผลให้ รฟท. จำเป็นต้องชดใช้ค่าบอกเลิกสัญญาแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงินต้น และดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี รวมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ราว 1.2 หมื่นล้านบาท ทันที (อ่านประกอบ : ดูเหตุผลคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุดสั่ง รฟท.จ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล.ปิดฉากคดีโฮปเวลล์)
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา รายงานแล้วว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ ทุนจดทะเบียน 1.5 หมื่นล้านบาท และปรากฏชื่อ นายอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด เป็นกรรมการด้วย โดยนายอนุศักดิ์ ถูกสื่อมวลชนขุดคุ้ยเมื่อปี 2533 ว่า เป็นมือขวาขอนายมนตรี พงษ์พานิช รมว.คมนาคม (ขณะนั้น) ยุครัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี มีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการนี้ เจรจากับนายกอร์ดอน หวู่ อดีตประธานบริหารเครือโฮปเวลล์ (อ่านประกอบ : 9 ปี 6 รบ.!คุ้ยมติ ครม.ใครเป็นใคร?สร้าง-เลิก‘โฮปเวลล์’ชนวน รฟท.เสียค่าโง่ 1.2 หมื่นล., เช็คสถานะล่าสุด บ.โฮปเวลล์ฯ ผู้ชนะคดี รฟท. 1.2 หมื่นล.-ใครต้องรับผิดชอบ?)
แต่หลายคนอาจยังไม่เคยทราบว่า ขั้นตอนการประกวดราคา และการตกลงเจรจาระหว่าง รฟท. ในฐานะฝ่ายรัฐ และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นอย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรานำเอกสารมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าวมานำเสนอ ดังนี้
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2533 นายมนตรี พงษ์พานิช รมว.คมนาคม ทำหนังสือกระทรวงคมนาคมที่ คค 0207/2406 เสนอต่อนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) รายงานถึงโครงการให้สัมปทานเอกชนลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขต กทม.
หนังสือดังกล่าว ระบุสาระสำคัญว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2532 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการตามโครงการให้สัมปทานเอกชนลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขต กทม. โดยให้ได้รับสัมปทานเดินรถระบบขนส่งมวลชนบนทางรถไฟยกระดับด้วย
กระทรวงคมนาคม มีคำสั่งที่ 283/2532 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินโครงการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ โดยได้รับสัมปทานเดินรถระบบรถไฟชุมชน (Community Train) และทางด่วนยกระดับสำหรับรถยนต์ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2532 เพื่อกำหนดรูปแบบ และคัดเลือกเส้นทางที่เหมาะสมที่จะประกาศเชิญชวนให้เอกชนมาลงทุน รวมทั้งดำเนินการออกประกาศเชิญชวน และพิจารณาคัดเลือกเอกชนผู้สนใจมาลงทุนด้วย โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน
คณะกรรมการฯชุดนี้ ได้กำหนดรูปแบบและคัดเลือกเส้นทางที่เหมาะสม ออกประกาศเชิญชวนเอกชนผู้สนใจมาลงทุนก่อสร้าง เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2532 ผลของการประกาศเชิญชวน ปรากฎว่า มีเอกชนสนใจซื้อซองข้อเสนอ 4 ราย ได้แก่
1.บริษัท Hopewell Holding Ltd. (Hong Kong)
2.บริษัท International Contract and Consulting Services Co.,Ltd.
3.บริษัท Modular Construction & Supply Co.,Ltd.
4.บริษัท สยาม เอบีซี จำกัด
แต่เมื่อครบกำหนดยื่นเอกสารข้อเสนอในวันที่ 15 ม.ค. 2533 ปรากฎว่า มีผู้ยื่นเอกสารข้อเสนอเพียงรายเดียว คือ บริษัท Hopewell Holding Ltd. (Hong Kong) คณะกรรมการฯชุดนี้จึงแต่งตั้งคณะทำงานขึ้น 2 คณะ เพื่อพิจารณาข้อเสนอของบริษัท ประกอบด้วย คณะทำงานพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิค และคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอทั่วไป
สำหรับผลการเจรจา สามารถทำความเข้าใจกันได้ในหลักการเบื้องต้น ดังนี้
1.บริษัท Hopewell จะทำการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในระยะแรก รวมระยะทางทั้งสิ้น 63.3 กม. ประกอบด้วย หัวลำโพง-บางซื่อ 7.0 กม. ยมราช-มักกะสัน 3.4 กม. มักกะสัน-แม่น้ำ 3.3 กม. มักกะสัน-หัวหมาก 9.6 กม. บางซื่อ-รังสิต 21.0 กม. หัวลำโพง-โพธิ์นิมิตร 6.2 กม. และยมราช-ธนบุรี-ตลิ่งชัน 12.8 กม.
2.บริษัท Hopewell เสนอที่จะจัดบริการรถไฟชุมชนพิเศษ ระหว่างหัวลำโพง-ดอนเมือง สำหรับผู้โดยสารเครื่องบิน โดยให้ผู้โดยสาร Check in ได้ที่หัวลำโพง
3.กระทรวงคมนาคมรับจะนำเงื่อนไขของบริษัท Hopewell ในเรื่องการขอรับสิทธิส่งเสริมการลงทุนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
4.รฟท. จะพิจารณาจัดสรรที่ดิน 80 ไร่ บริเวณบางซื่อ และ 80 ไร่ บริเวณมักกะสัน นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวน เพื่อให้บริษัท Hopewell ก่อสร้างโรงเก็บและโรงซ่อมรถไฟชุมชนเป็นการชั่วคราว โดยบริษัทต้องเสนอผลประโยชน์ตอบแทนที่เหมาะสม
5.บริษัท Hopewell จะทำการย้ายสถานีหัวลำโพงไปอยู่ที่บางซื่อ โดย รฟท. จะนำขบวนรถโดยสารระยะไกลที่มีความสำคัญ เข้า-ออก ที่สถานีหัวลำโพง ประมาณวันละ 60 ขบวน
6.บริษัท Hopewell จะได้รับสิทธิในการจัดประโยชน์ที่ดินบริเวณสถานีรถไฟ และย่านสถานีหัวลำโพง ในพื้นที่ประมาณ 112 ไร่ โดยบริษัทจะต้องเสนอผลประโยชน์ตอบแทนที่เหมาะสม (ดูเอกสารประกอบท้ายรายงาน)
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2533 ได้รับทราบรายงานดังกล่าวที่กระทรวงคมนาคมเสนอแล้ว
นี่คือผลการเจรจาเบื้องต้น อันนำไปสู่มหากาพย์ ‘โฮปเวลล์’ ตอม่อร้าง อนุสรณ์สถานการ ‘คอร์รัปชั่น’ ครั้งใหญ่ในประเทศไทยเป็นเวลาต่อมา ?
ท้ายที่สุดใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ‘ค่าโง่’ ดังกล่าว คงต้องติดตามกันต่อไป!
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน